หน้าหลักนักลงทุนสัมพันธ์

นโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

sent mail print

ดาวน์โหลด

นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

“ห้ามกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ดำเนินการสนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชัน หรือยอมรับการคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ เพื่อประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมต่อตนเอง ครอบครัว เพื่อน และคนรู้จัก ไม่ว่าตนจะอยู่ในฐานะเป็นผู้รับ ผู้ให้หรือผู้เสนอให้สินบน ทั้งที่เป็นตัวเงินหรือไม่เป็นตัวเงิน แก่บุคคล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานของเอกชน ที่บริษัท ได้ดำเนินธุรกิจหรือติดต่อด้วย โดยครอบคลุมถึงธุรกิจของบริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือบริษัทอื่นที่บริษัทมีอำนาจในการควบคุมไม่ว่ากรณีใดๆ และต้องปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันอย่างเคร่งครัด รวมถึงจัดให้มีโครงสร้างผู้รับผิดชอบและระบบการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายใน เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือคอร์รัปชันภายในองค์กร ตลอดจนทบทวนแนวทางปฏิบัติฯ และข้อกำหนดในการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย”

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

  1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันและจรรยาบรรณธุรกิจ โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันไม่ว่าโดยทางตรงและทางอ้อม หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น
  2. พนักงาน ไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบ ทราบและให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถาม ให้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณของบริษัท ผ่านช่องทางต่างๆ ที่กำหนดไว้
  3. บริษัท จะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธหรือแจ้งเรื่องคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชัน ตามที่บริษัทกำหนดไว้ในมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน อีกทั้ง ไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชันแม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ ทั้งนี้ บริษัทได้กำหนดกระบวนการการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงาน กำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ มีกระบวนการติดตาม ตรวจสอบได้
  4. กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานทุกระดับ ที่กระทำการคอร์รัปชัน ถือเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณบริษัท ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ นอกจากนี้อาจจะได้รับโทษตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
  5. มาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจและเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชา พนักงานทุกคนทุกระดับ ผู้ส่งมอบ ผู้รับจ้างช่วงที่จะมีส่วนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อให้การดำเนินการด้านการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันบรรลุตามนโยบายที่กำหนด
  6. บริษัท พัฒนาการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวมถึงหลักการปฏิบัติด้านศีลธรรม โดยจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องหรือสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชัน และนำมาจัดทำเป็นคู่มือแนวทางในการปฏิบัติแก่ผู้เกี่ยวข้อง
  7. บริษัท จัดให้มีความรู้การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันแก่คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานเพื่อส่งเสริมความซื่อสัตย์ สุจริต และรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบ รวมถึงสื่อให้เห็นความมุ่งมั่นของบริษัท
  8. บริษัท จัดให้มีกลไกการรายงานสถานะทางการเงินที่โปร่งใสและถูกต้องแม่นยำ บริษัท ตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ให้ความรู้และทำความเข้าใจกับบุคคลอื่นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท หรืออาจเกิดผลกระทบต่อบริษัท
  9. บริษัท ส่งเสริมให้มีการสื่อสารที่หลากหลายช่องทางเพื่อให้พนักงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถแจ้งเบาะแส หรือข้ออันควรสงสัย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้แจ้งเบาะแสได้รับการคุ้มครอง โดยไม่ให้ถูกลงโทษ โยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม หรือกลั่นแกล้งด้วยประการใดๆ รวมถึงการแต่งตั้งบุคคลเพื่อตรวจสอบ ติดตามทุกเบาะแสที่มีการแจ้งเข้ามา

มาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน

1. การบริหารจัดการความเสี่ยง

บริษัท กำหนดให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านทุจริตคอร์รัปชัน โดยเริ่มตั้งแต่การวางแผนการประเมินความเสี่ยง ระบุวัตถุประสงค์ หน้าที่และความรับผิดชอบของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกำหนดเกณฑ์ในการประเมินความเสี่ยงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน อ้างอิง “คู่มือการบริหารความเสี่ยงด้านการทุจริตและคอร์รัปชัน” ทั้งนี้ บริษัทได้ประเมินความเสี่ยงที่ทำให้เกิดผลกระทบทั้งในรูปแบบที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน และ มีการพิจารณาถึงปัจัยภายใน ปัจจัยภายนอก และโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง เพื่อให้ครอบคลุมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัท พร้อมทั้งกำหนดมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงหากมาตรการควบคุมภายในที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอ

2. นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

บุคคลากรของบริษัท จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง โปร่งใส และเป็นไปตามกฎหมายกำหนด เพื่อความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดการทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบต่างๆ จึงกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้

“บริษัท กําหนดนโยบายการสนับสนุนทางการเมืองหรือการช่วยเหลือทางการเมือง ถือเป็นจรรยาบรรณในการดําเนินธุรกิจ โดยให้เคารพต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ให้ความสําคัญในความเป็นกลางทางการเมือง และส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับสามารถใช้สิทธิทางการเมืองของตนตามครรลองของกฎหมายในฐานะการเป็นพลเมืองดี รวมถึง ไม่สนับสนุนทางการเงิน ทรัพย์สิน สิทธิหรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางการเมืองไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม แก่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดๆ ตลอดจนตัวแทนของนักการเมือง เพื่อประโยชน์ต่อบริษัท เว้นแต่เป็นการสนับสนุน กระบวนการทางประชาธิปไตยที่กระทําได้ตามที่กฎหมายกําหนด”

“บริษัท กําหนดนโยบายการป้องกันการขัดแย้งทางผลประโยชน์ ถือเป็นจรรยาบรรณในการดําเนินธุรกิจ ไม่ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานใช้โอกาสจากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานบริษัท แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ห้ามมิให้กรรมการประกอบธุรกิจที่เป็นการแข่งขันกับบริษัท หลีกเลี่ยงการทำรายการที่เกี่ยวโยงกับตนเองที่อาจก่อให้เกิดความข้ดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท หรือในกรณีจำเป็นต้องทำรายการลักษณะดังกล่าว คณะกรรมการบริษัท ดูแลให้การทำรายการนั้นมีความโปร่งใส เที่ยงธรรม เสมอเหมือนการทำรายการกับบุคคลภายนอก ทั้งนี้ ห้ามมิให้กรรมการ หรือพนักงานที่มีส่วนได้เสียในรายการนั้นมีส่วนในการพิจารณาอนุมัติ”

ในกรณีที่เข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันภายใต้ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการบริษัทกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และการเปิดเผยข้อมูลรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทจดทะเบียนอย่างเคร่งครัด คณะกรรมการบริษัท ได้กำหนดนโยบายและการดำเนินการต่างๆ อ้างอิงเอกสาร “แนวทางปฏิบัติเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์”

“บริษัท กำหนดนโยบายการจ่ายค่าอำนวยความสะดวก โดย กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของ บริษัท ต้องไม่จ่ายค่าอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่ากรณีใดๆ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นการให้สินบน เพิ่มต้นทุนทางธุรกิจ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และละเมิดนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันนี้”

“บริษัท กำหนดนโยบายการจ้างพนักงานรัฐเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท หรือที่ปรึกษาของบริษัท ต้องมีกระบวนการคัดเลือก การอนุมัติการจ้าง การกำหนดค่าตอบแทน และกระบวนการควบคุมเพื่อให้มั่นใจว่าการจ้างพนักงานรัฐจะไม่ได้เป็นการตอบแทนการได้มาซึ่งประโยชน์ใดๆ การเอื้อประโยชน์ต่อบริษัท ทำลายภาพลักษณ์ด้านความน่าเชื่อถือ และความซื่อตรงของการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น”

“บริษัท กำหนดนโยบายการให้บริจาคเพื่อการกุศลของบริษัท ต้องพิสูจน์ได้ว่าการให้บริจาคได้ให้การช่วยเหลือ สนับสนุนชุมชน สังคม โดยการบริจาคเพื่อการกุศลจะต้องนําไปใช้ในสาธารณกุศลตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง และต้องไม่มีผลต่อการตัดสินใจเชิงธุรกิจ ต้องกระทำด้วยความโปร่งใสและมีเอกสารหลักฐานในการ บริจาคอย่างครบถ้วน ไม่เป็นข้ออ้างในการรับหรือให้สินบน หรือเป็นเส้นทางสําหรับการทุจริตคอร์รัปชัน สำหรับการรับบริจาค บริษัทไม่มีนโยบายในการรับบริจาคทุกกรณี

“บริษัท กำหนดนโยบายการให้และรับการสนับสนุนต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นการสนับสนุนให้กิจกรรมของโครงการประสบผลสำเร็จ เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ธุรกิจ ตราสินค้าของบริษัท หรือเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง โปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบน โดยกำหนดขั้นตอนอำนาจอนุมัติอย่างรัดกุม สามารถสอบทานและติดตามเอกสารหลักฐานต่างๆได้”

“บริษัท กำหนดนโยบายการให้และรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ โดยกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท ต้องไม่เรียกร้อง ให้และรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ หรือสิทธิประโยชน์ในรูปแบบใดๆ เพื่อจูงใจในการตัดสินใจ หรือมีผลให้ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ หรือในลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการรับหรือให้สินบน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ต่อบุคคล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานของเอกชน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่เป็นการสร้างไมตรีจิตหรือความสัมพันธ์ที่อยู่ในวิสัยที่กระทำได้ ไม่บ่อยครั้ง เหมาะสมกับโอกาส โดยมีราคาหรือมูลค่าที่เหมาะสม และเป็นไปตามธรรมเนียมประเพณี ไม่ขัดต่อข้อบังคับ จรรยาบรรณ กฎระเบียบของบริษัท และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”

การเลี้ยงรับรองและการบริการต้อนรับ ต้องเป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองหรือการต้อนรับที่อำนวยประโยชน์แก่กิจการ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรสพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกีฬา การจัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติทางธุรกิจ หรือเป็นจารีตการค้า รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจทางธุรกิจค้า สามารถกระทําได้แต่ต้องเป็นการใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล ไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติงาน หรือละเลยหน้าที่ความรับผิดชอบที่พึงปฏิบัติ หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์

บริษัทมีนโยบาย งดรับ ของขวัญ ของที่ระลึก หรือประโยชน์อื่นใดในทุกกรณี จากคู่ค้าหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือติดต่อประสานงานกันในนามของบริษัท นอกจากเป็นการรับของขวัญในลักษณะความสัมพันธ์ส่วนตัว และไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจหรือละเลยความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน บริษัทมีหน้าที่แจ้งให้บุคคลภายนอกทราบถึงนโยบายงดรับของขวัญดังกล่าว

มาตรการตรวจพบการทุจริตคอร์รัปชัน

มาตรการป้องกันการทุจริตที่ดีสามารถช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการทุจริตได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม บริษัทจำเป็นต้องจัดทำมาตรการตรวจพบการทุจริต เพื่อช่วยตรวจพบและรายงานการกระทำที่อาจเป็นการทุจริต คอร์รัปชันอย่างทันท่วงที บริษัทจึงได้กำหนดกลไกการแจ้งเหตุหรือเบาะแส และการรายงานการทุจริตเป็นกิจกรรมหลักที่สามารถช่วยให้บริษัทตรวจพบการทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากนี้ เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการตรวจพบการทุจริต คอร์รัปชันมีความเหมาะสม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ฝ่ายตรวจสอบภายในของบริษัทจะสอบทานการควบคุมภายในของมาตรการดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ

บริษัท ได้กำหนดให้มีช่องทางที่น่าเชื่อถือและเป็นอิสระ สำหรับการร้องเรียน หรือการแจ้งเบาะแสจากการกระทำผิดกฎหมายจรรยาบรรณ หรือละเมิดนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน หรือพฤติกรรมที่อาจส่อถึงการทุจริตหรือประพฤติมิชอบของบุคคลในองค์กร ซึ่งรวมถึงพนักงาน ผู้บริหาร และผู้มีส่วนได้เสีย โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นบุคลากรของบริษัทหรือบุคคลภายนอกสามารถแจ้งเบาะแสได้ ดังนั้น บุคลากรของบริษัทจึงมีหน้าที่แจ้งเหตุ หรือเบาะแสของการทุจริตผ่านช่องทางที่บริษัทกำหนดไว้ โดยบริษัทจะลงโทษบุคลากรของบริษัทที่ทราบหรือมีข้อมูลของเหตุการณ์ที่อาจเป็นการทุจริต แต่ไม่แจ้งให้บุคคลที่รับผิดชอบรับทราบ ซึ่งบริษัทมีมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเหตุ โดยมีกลไกในการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส ผู้ให้ข้อมูล และให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลข้อร้องเรียนเป็นความลับ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ร้องเรียน อย่างไรก็ตาม บริษัทจะลงโทษผู้ที่จงใจแจ้งเหตุหรือเบาะแสที่ไม่เป็นความจริง

  1. จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ส่งถึง:
    คณะกรรมการบริษัท
    Email: board@pdgth.com
    คณะกรรมการตรวจสอบ
    Email: ind_dir@pdgth.com
    เลขานุการบริษัท
    Email: cs@pdgth.com
    หรือส่งผ่านช่องทางเว็บไซต์: https://investor-th.pdgth.com/contact_board.html
  2. จดหมายจัดส่งทางไปรษณีย์ ส่งถึง:
    คณะกรรมการตรวจสอบ (ผ่าน หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน)
    บริษัท ผลธัญญะ จำกัด (มหาชน)
    เลขที่ 1/11 หมู่ 3 ถ.ลำลูกกา ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 12150
    โทร. (662) 791 0111
  • รายละเอียดของเบาะแส หรือข้อร้องเรียน ต้องเป็นความจริง มีความชัดเจน หรือพอที่จะนำสืบหาข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการต่อไปได้
  • ข้อมูลที่ได้รับจะถือเป็นความลับ และไม่มีการเปิดเผยชื่อผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ร้องเรียนต่อสาธารณชน หากไม่ได้รับความยินยอม
  • ระยะเวลาตอบกลับผู้ร้องเรียนไม่ควรเกิน 3 วันทำการหลังจากได้รับข้อร้องเรียน
  • ระยะเวลาในการดำเนินการเรื่องร้องเรียน ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของเรื่อง ความเพียงพอของเอกสารหลักฐานที่ได้รับจากผู้ร้องเรียน รวมถึงเอกสารหลักฐาน และคำชี้แจงของผู้ถูกร้องเรียน แต่ไม่เกิน 30 วันทำการ
  • ทั้งนี้ เงื่อนไขและขั้นตอนการพิจารณาเบาะแสและข้อร้องเรียนมีระบุอยู่ในคู่มือการรับข้อร้องเรียนซึ่งได้มีประกาศต่อบุคลากรของบริษัทและบริษัทย่อย อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตรวจสอบภายในมีหน้าที่ ทบทวน ปรับปรุงขั้นตอนการแจ้งเหตุหรือเบาะแสให้เป็นปัจจุบัน ตลอดจนสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับการแจ้งเหตุหรือเบาะแสให้บุคลากรของบริษัทและบริษัทย่อยทราบ จัดให้มีการฝึกอบรมแก่บุคลากรผู้ทำหน้าที่รับการแจ้งเหตุหรือเบาะแส ครอบคลุมถึงขั้นตอนการปฏิบัติงาน การเก็บรักษาความลับ แนวปฏิบัติด้านจริยธรรม และนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

  1. จัดทำระบบฐานข้อมูลเก็บความลับของผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน และผู้ถูกละเมิดสิทธิ และกำหนดบทลงโทษ สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบข้อมูลดังกล่าวเมื่อข้อมูลถูกเปิดเผย
  2. การเข้าถึงระบบฐานข้อมูลสามารถกระทำได้โดย ประธานกรรมการ หรือประธานกรรมการตรวจสอบเท่านั้น
  3. บริษัท จะเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็นโดยคำนึงถึงความปลอดภัย และความเสียหายของผู้แจ้งเบาะแส ผู้ร้องเรียน หรือผู้ถูกละเมิดสิทธิ แหล่งที่มาของข้อมูลหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
  4. ถือเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้างานของผู้ที่ถูกร้องเรียนและผู้ถูกละเมิดสิทธิทุกคน ในการใช้ดุลยพินิจสั่งการที่สมควรเพื่อคุ้มครองผู้ร้องเรียนและผู้ถูกละเมิดสิทธิ พยาน และบุคคลที่ให้ข้อมูลในการสืบสวนสอบสวนมิให้ต้องรับภยันตรายและความเดือดร้อน หรือความไม่ชอบธรรมอันเนื่องมาจากข้อร้องเรียนหรือการละเมิดสิทธิใดๆ การเป็นพยานหรือการให้ข้อมูล
  5. บริษัท จะไม่กระทำการใดอันไม่เป็นธรรมต่อผู้แจ้งเบาะแสและผู้ร้องเรียน หรือผู้ถูกละเมิดสิทธิ ไม่ว่าจะโดยการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง ลักษณะงาน สถานที่ทำงาน สั่งพักงาน ข่มขู่ รบกวนการปฏิบัติงาน เลิกจ้าง หรือกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ร้องเรียน หรือผู้ถูกละเมิดสิทธิ หรือผู้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบทุจริต

มาตรการตอบสนองกรณีเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน

บริษัทจัดทำมาตรการตอบสนองต่อการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อแก้ไขผลกระทบ รวมทั้งหาวิธีการป้องกันไม่ให้การทุจริตคอร์รัปชัน ประเภทเดียวกันเกิดขึ้นอีก โดยมาตรการตอบสนองต่อการทุจริตประกอบด้วย การสอบสวน การลงโทษ และมาตรการแก้ไข และการเปิดเผย

ท่านสามารถศึกษาข้อมูล รายละเอียดแนวทางปฏิบัติฯ เพิ่มเติมได้จากเอกสารนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัท

รับข่าวสาร

ติดตามและรับรู้ข้อมูลข่าวสารจาก ผลธัญญะ ผ่านช่องทางอีเมลได้ที่นี่

เกี่ยวกับเรา

ติดต่อเรา

  • ที่อยู่ 1/11 หมู่ 3 ถ.ลำลูกกา ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 12150
  • โทรศัพท์ (02) 791-0111 แฟกซ์ (02) 791-0100-3
  • อีเมล info@pdgth.com