This printed article is located at https://investor-th.pdgth.com/directors.html

Board of Directors

อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

คณะกรรมการบริษัทมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นในการดำเนินธุรกิจของบริษัท และการกำกับดูแลให้การบริหารจัดการเป็นไปตามเป้าหมายและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น ภายใต้กรอบจริยธรรมที่ดีและคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย รวมถึงการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฏหมาย ระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 (รวมแก้ไขเพิ่มเติม) มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบดังต่อไปนี้

  1. คณะกรรมการบริษัทต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัท ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ ถูกต้อง ครบถ้วน และโปร่งใส ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
  2. กำหนด หรือ เปลี่ยนแปลงชื่อกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท
  3. คณะกรรมการมีส่วนร่วมในการพิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่กิจการอย่างเป็นธรรมและต่อเนื่อง มีดังนี้
    • การพิจารณา กำหนด และให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท ได้แก่ วิสัยทัศน์ ภารกิจ กลยุทธ์ เป้าหมายทางการเงิน ความเสี่ยง แผนงาน และงบประมาณ เป็นต้น มีการพิจารณาทบทวนและอนุมัติวิสัยทัศน์ ภารกิจ หรือกลยุทธ์ของบริษัทในรอบปีที่ผ่านมา
    • การติดตามและดูแลให้ฝ่ายบริหารดำเนินงานตามนโยบาย กลยุทธ์และแผนที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงระบบการรายงานผลเทียบกับเป้าหมาย ปัญหาอุปสรรค และแนวทางแก้ไขปัญหา
    • การควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งกลไกในการรับเรื่องร้องเรียนและการดำเนินการกรณีที่มีการชี้เบาะแส
    • การดูแลให้การดำเนินธุรกิจมีความต่อเนื่องในระยะยาว รวมทั้งแผนการพัฒนาพนักงาน ความต่อเนื่องของผู้บริหารสืบทอดตำแหน่ง
  4. กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารระดับสูงให้เป็นไปตามเป้าหมาย แผนงานที่กำหนด และกำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสมสอดคล้องกับผลการดำเนินงานโดยเทียบเคียงกับลักษณะธุรกิจประเภทเดียวกัน
  5. จัดให้มีนโยบายการกำกับดูแลกิจการ และนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นลายลักษณ์อักษร ให้ความเห็นชอบนโยบาย และมีการทบทวนนโยบายและแนวทางปฏิบัติเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ติดตามให้มีการปฏิบัติ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการปลูกฝังค่านิยมองค์กรที่สะท้อนการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดการปฏิบัติจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
  6. ส่งเสริมให้จัดทำจรรยาบรรณธุรกิจเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน เข้าใจถึงมาตรฐานด้านจริยธรรมที่บริษัทใช้ในการดำเนินธุรกิจ และติดตามให้มีการปฏิบัติตามจรรยาบรรณดังกล่าวอย่างจริงจัง
  7. พิจารณาการทำรายการที่อาจมีความขัดแย้งของผลประโยชน์ด้วยความระมัดระวังรอบคอบเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ โดยผู้มีส่วนได้เสียไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดและเปิดเผยข้อมูลรายการที่อาจมีความขัดแย้งของผลประโยชน์ให้ถูกต้องครบถ้วน
  8. จัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่เพียงพอ เพื่อให้มั่นใจว่าการทำรายการต่างๆ ได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจ มีการสอบทานและจัดทำบัญชีที่ถูกต้อง การสอบบัญชีที่เชื่อถือได้ ตลอดจนมีระบบต่างๆ ที่สามารถป้องกันการนำทรัพย์สินของบริษัทฯ ไปใช้ในทางมิชอบ
  9. คณะกรรมการบริษัทโดยผ่านการแสดงความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบ ให้ความเห็นถึงความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง และเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปี
  10. จัดให้มีกลไกการกำกับดูแลบริษัทย่อย เพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ในเงินลงทุนของบริษัท โดยพิจารณาความเหมาะสมของบุคคลที่จะส่งไปเป็นกรรมการในบริษัทย่อย เพื่อควบคุมการบริหารให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัท และการทำรายการต่างๆ ให้ถูกต้องตามกฏหมายและหลักเกณฑ์ของกฏหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และประกาศของตลาดหลักทรัพย์ฯ
  11. แต่งตั้งเลขานุการบริษัท ซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่คณะกรรมการจะต้องทราบ และดูแลกิจกรรมของคณะกรรมการ รวมทั้งประสานงานให้มีการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการ
  12. จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อยเป็นประจำทุปี
  13. รายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทในการจัดทำรายงานทางการเงิน โดยแสดงควบคู่กับรายงานของผู้สอบบัญชีไว้ในรายงานประจำปี และครอบคลุมเรื่องสำคัญๆ ตามนโยบายข้อพึงปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการของบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  14. คณะกรรมการมีสิทธิเชิญผู้ทรงคุณวุฒิบุคคลหนึ่งบุคคลใดคนเดียว หรือหลายคนมาเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ โดยผู้รับเชิญไม่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมคณะกรรมการ
  15. คณะกรรมการอาจแต่งตั้งบุคคลอื่นใดให้ดำเนินกิจการของบริษัท ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการ หรืออาจมอบอำนาจเพื่อให้บุคคลดังกล่าวมีอำนาจ และ/หรือภายในเวลาตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร ซึ่งคณะกรรมการอาจยกเลิก เพิกถอน เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขอำนาจนั้นๆ ได้
  16. พิจารณาอนุมัติ และ/หรือรายการที่เกี่ยวโยงหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การมีส่วนได้เสียหรือประโยชน์อื่นใดกับบริษัทหรือบริษัทย่อย ยกเว้นรายการที่เป็นรายการธุรกิจปกติและเป็นไปตามเงื่อนไขการค้าทั่วไป ตามที่คณะกรรมการได้กำหนดอำนาจอนุมัติของบริษัทและ/หรือบริษัทย่อย โดยอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการตามที่กำหนดเกี่ยวกับรายการที่เกี่ยวโยง และรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้มั่นใจว่ารายการดังกล่าวสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท
    ทั้งนี้ การอนุมัติรายการของคณะกรรมการข้างต้นจะไม่รวมถึงการอนุมัติรายการที่คณะกรรมการ หรือบุคคลที่อาจมีส่วนได้เสียหรือมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ลักษณะอื่นใดกับบริษัท (ถ้ามีในอนาคต) ซึ่งการอนุมัติในลักษณะดังกล่าวจะต้องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ และ/หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น (แล้วแต่กรณี) เพื่อพิจารณาอนุมัติรายการดังกล่าวตามข้อบังคับของบริษัทหรือกฏหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด

หน้าที่ของประธานกรรมการ

ให้กรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรจะเลือกกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นรองประธานก็ได้ ประธานกรรมการมีหน้าที่ดังนี้

  1. กำกับ ติดตาม ดูแล การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร
  2. เป็นผู้นำของคณะกรรมการ ทำหน้าที่ประธานในการประชุมคณะกรรมการ การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี และการประชุมกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร
  3. กำหนดแผนการประชุมคณะกรรมการล่วงหน้า (ประจำปี) และร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารและเลขานุการบริษัท กำหนดวาระการประชุมคณะกรรมการ โดยดูแลให้เรื่องสำคัญได้ถูกบรรจุเป็นวาระการประชุม และคณะกรรมการได้รับข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วนทันเวลาก่อนการประชุม เพื่อให้คณะกรรมการสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม
  4. ควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับบริษัทและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  5. ดำเนินการประชุมให้เป็นไปตามระเบียบวาระที่กำหนดในหนังสือนัดประชุมให้สำเร็จลุล่วงเป็นไปอย่างราบรื่น และจัดสรรเวลาอย่างเพียงพอ เพื่อให้กรรมการได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เป็นอิสระ ใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอย่างครบถ้วน
  6. การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากโดยกรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน กรรมการซึ่งมีส่วนได้เสียเรื่องใดไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
  7. เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกรรมการที่เป็นผู้บริหารและกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร และระหว่างกรรมการกับฝ่ายบริหาร รวมถึง ส่งเสริม สนับสนุนฝ่ายบริหารให้มีการปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายบริษัทฯ
  8. ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณธุรกิจ และดูแลให้มั่นใจว่า มีการนำแนวทางไปใช้ในการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
  9. กำกับ ดูแล และติดตามการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการในแต่ละเรื่อง หรืออาจมอบหมายให้เลขานุการบริษัทเป็นผู้รับมอบหมายเป็นการเฉพาะเรื่อง
เอกสาร
กฎบัตรคณะกรรมการบริษัท ดาวน์โหลด
นิยามกรรมการอิสระ ดาวน์โหลด

Please read our General Disclaimer & Warning carefully.
Use of this Website constitutes acceptance of the Terms of Website Use.
Copyright © 2024. ThaiListedCompany.com. All Rights Reserved.